[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by
_SCRIPT _VERSION
Home
Research
Innovation
วิธีนำเสนอผลงาน
สมัครสมาชิก
คู่มือการใช้
ผู้ดูแลระบบ
ชื่องานวิจัย
นางสาวกุลธิดา สุวัชระกุลธร. (2563). การพัฒนาชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright เพื่อพัฒนาแนวคิดฟิสิกส์ เรื่อง การสั่นพ้องของเสียง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
เข้าชม 1,984
| แชร์
บทคัดย่อ
1. คำถามวิจัย
1. ประสิทธิภาพของชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียงจากบอร์ดสมองกล KidBright เป็นอย่างไร 2. แนวคิดฟิสิกส์เรื่อง การสั่นพ้องของเสียง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียงจากบอร์ดสมองกล KidBright เป็นอย่างไร
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อออกแบบและสร้างชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียงจากบอร์ดสมองกล KidBright ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. เพื่อศึกษาแนวคิดฟิสิกส์เรื่อง การสั่นพ้องของเสียง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียงจากบอร์ดสมองกล KidBright
3. สมมติฐานการวิจัย
-
4. วิธีการดำเนินการวิจัย
กลุ่มตัวอย่าง
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 ที่เรียนรายวิชาฟิสิกส์เพิ่มเติม3รหัสวิชา ว30203 จำนวน 1 ห้องเรียน นักเรียน 39 คน เป็นห้องที่ผู้วิจัยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอน
เครื่องมือที่ใช้
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาแนวคิดฟิสิกส์เรื่องการสั่นพ้องของเสียง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง คลื่นนิ่งและการสั่นพ้องของเสียง และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบวัดแนวคิดเรื่องการสั่นพ้องของเสียง มีรายละเอียดดังนี้
1. เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาแนวคิดฟิสิกส์เรื่องการสั่นพ้องของเสียง
แผนการจัดการเรียนรู้ฟิสิกส์ เรื่อง การสั่นพ้องของเสียง จำนวน 5 แผน ระยะเวลา 8 คาบเรียน คาบเรียนละ 50 นาที โดยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะความรู้ 5 ขั้น (5Es) โดยแผนการจัดการเรียนรู้ประกอบด้วย มาตรฐานการเรียนรู้ ผลการเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระสำคัญ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและแหล่งเรียนรู้ การวัดผลและการประเมินผล หลังจากออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้เสร็จนำแผนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน ตรวจสอบความถูกต้อง และความเหมาะสมของแผนการจัดการเรียนรู้ โดยถือความเห็นที่สอดคล้องกันของผู้เชี่ยวชาญ ร้อยละ 60 ขึ้นไป เป็นเกณฑ์ในการผ่าน โดยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright แบบสืบเสาะความรู้ 5 ขั้น (5Es) เรื่อง คลื่นนิ่งและการสั่นพ้องของเสียง มีคุณภาพระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 4.76
2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
แบบวัดแนวคิดเรื่องการสั่นพ้องของเสียง เป็นแบบวินิจฉัยตัวเลือกสองลำดับขั้น (two tier diagnostic concept test) แบบปรนัยพร้อมเลือกเหตุผล จำนวน 5 ข้อ หลังจากออกแบบแบบวัดแนวคิดเสร็จ นำโครงสร้างของแบบวัดแนวคิด และแบบวัดแนวคิดเรื่องการสั่นพ้องของเสียงที่สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ตรวจสอบความถูกต้องของโครงสร้างแบบวัดแนวคิด และความสอดคล้องของข้อคำถามและคำตอบ และทำการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ โดยถือความเห็นที่สอดคล้องกันของผู้เชี่ยวชาญ ร้อยละ 60 ขึ้นไป
ช่วงเวลาการทดลอง
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563
การวิเคราะข้อมูล
1. การศึกษาประสิทธิภาพของชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
วิเคราะห์หาประสิทธิภาพของชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright โดยหาค่า E1/E2 ผลการหาประสิทธิภาพของชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright ที่สร้างขึ้น กำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80
2. การศึกษาแนวคิดฟิสิกส์เรื่อง การสั่นพ้องของเสียง ของนักเรียน ที่เรียนด้วยชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright
ในการตอบคำถามวิจัยที่ถามว่า แนวคิดฟิสิกส์เรื่อง การสั่นพ้องของเสียง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อเรียนรู้ผ่านชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright เป็นอย่างไร ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้
1. นำคำตอบที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบวัดแนวคิดเรื่องการสั่นพ้องของเสียง ของนักเรียนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright มาวิเคราะห์คำตอบรายข้อ โดยตรวจคำตอบทีละข้อ แล้วจัดกลุ่มคำตอบออกเป็น 5 กลุ่ม ตามระดับความสอดคล้องกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ ตามแนวคิดของ Abraham et al. (1994) ซึ่งแบ่งกลุ่มแนวคิดออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
แนวคิดวิทยาศาสตร์ (Sound Understanding หรือ Complete Understanding) หมายถึง คำตอบแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจแนวคิดวิทยาศาสตร์ทั้งหมด
แนวคิดวิทยาศาสตร์บางส่วน (Partial Understanding หรือ Complete Explanation) หมายถึง คำตอบมีแนวคิดสอดคล้องกับแนวคิดวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 1 องค์ประกอบ
แนวคิดวิทยาศาสตร์บางส่วนและคลาดเคลื่อน (Partial Understanding with Specific Misconception) หมายถึง คำตอบแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจแนวคิดวิทยาศาสตร์ถูกต้องบางส่วน และมีแนวคิดบางส่วนไม่ถูกต้องตามแนวคิดวิทยาศาสตร์
แนวคิดคลาดเคลื่อนจากแนวคิดวิทยาศาสตร์ (Specific Misconception หรือ Complete Misunderstanding) หมายถึง คำตอบไม่ถูกต้องตามแนวคิดวิทยาศาสตร์
ไม่เข้าใจแนวคิด (No Understanding หรือ No Conception หรือ No Response) หมายถึง คำตอบอธิบายไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องที่ถาม หรือไม่ตอบคำถามใดๆ
2. หาค่าความถี่และคำนวณค่าร้อยละของความถี่ของนักเรียนในแต่ละกลุ่มแนวคิด ทั้งก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้
5. ผลการวิจัย
1. การศึกษาประสิทธิภาพของชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
ชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright มีประสิทธิภาพของกระบวนการ/ประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E1/E2) เท่ากับ 81.97/81.18 เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้จากการหาคุณภาพของชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright พบว่าการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright มีคุณภาพในระดับดีมาก มีคะแนนเฉลี่ย 4.75
2. การศึกษาแนวคิดฟิสิกส์เรื่อง การสั่นพ้องของเสียง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright
การจัดการเรียนรู้ด้วยชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright สามารถพัฒนาแนวคิดเรื่องการสั่นพ้องของเสียงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้ โดยหลังการจัดการเรียนรู้ นักเรียนที่มีแนวคิดสอดคล้องกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ (SU) เพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้ทุกแนวคิด ก่อนการจัดการเรียนรู้พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีแนวคิดคลาดเคลื่อนจากแนวคิดวิทยาศาสตร์ (SM) และไม่พบนักเรียนคนใดที่มีแนวคิดสอดคล้องกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ (SU) เมื่อนักเรียนได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียง (KB Sound Wave Measurement) จากบอร์ดสมองกล KidBright พบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีการพัฒนาแนวคิดเพิ่มขึ้น โดยนักเรียนมีแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิดวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นทุกแนวคิด คือ การเกิดคลื่นนิ่งของเสียง ลักษณะคลื่นนิ่งของเสียง ความถี่การสั่นพ้อง ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่กับตำแหน่งของการสั่นพ้องของเสียงจากท่อปลายปิด และการวัดความยาวคลื่นเสียงโดยอาศัยปรากฏการณ์สั่นพ้องของเสียง นอกจากนี้พบว่า จำนวนนักเรียนที่มีแนวคิดคลาดเคลื่อนจากแนวคิดวิทยาศาสตร์ (SM) และไม่เข้าใจแนวคิด (NU) มีจำนวนลดลง
6. การใช้ประโยชน์
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียงจากบอร์ดสมองกล KidBright ช่วยให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการสืบเสาะความรู้จากการทดลอง และสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการทดลอง วิธีการเรียนรู้ดังกล่าวช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้แนวคิดเรื่องการสั่นพ้องของเสียงตามวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการค้นพบองค์ความรู้ นอกจากนี้ ชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียงจากบอร์ดสมองกล KidBright ช่วยลดความคลาดเคลื่อนจากผู้ทำการทดลองที่เกิดขึ้นในการทดลองเนื่องจากมีการใช้เซ็นเซอร์วัดความดังของเสียง แทนการใช้ประสาทสัมผัสในการได้ยินของผู้ทำการทดลอง เพื่อบอกตำแหน่งที่ได้ยินเสียงดังที่สุด ทำให้ผู้เรียนสามารถสรุปองค์ความรู้จากการทดลองได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการสั่นพ้องของเสียง จนเกิดเป็นแนวคิดวิทยาศาสตร์เรื่องการสั่นพ้องของเสียงได้ และในการทำกิจกรรมการทดลองซึ่งเน้นให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มและสื่อสารเพื่อเกิดความเข้าใจ ทำให้ผู้เรียนได้รับการกระตุ้นให้เกิดการสืบเสาะหาความรู้จนสามารถสรุปองค์ความรู้ จนเกิดเป็นความเข้าใจแนวคิดได้ นอกจากนี้ชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียงจากบอร์ดสมองกล KidBright เป็นนวัตกรรมที่มีความแปลกใหม่สำหรับนักเรียน เนื่องจากมีการใช้บอร์ดสมองกลฝังตัวและการพัฒนาแอพลิเคชันมาใช้ในชุดการทดลอง จึงกระตุ้นความสนใจของนักเรียนให้มีความสนใจในการทำการทดลองเพิ่มมากขึ้น และชุดการทดลองวัดความยาวคลื่นของเสียงจากบอร์ดสมองกล KidBright ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมของนักเรียน เนื่องจากได้เห็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากบอร์ดสมองกลฝังตัวอีกด้วย
7. แหล่งทุน/รางวัลที่ได้รับ
กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 10 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เขตดุสิต กทม. 10300
ติดต่อผู้ดูแลระบบ : reis.obec@gmail.com โทรศัพท์ 0 2288 5883