[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by _SCRIPT _VERSION
 Home Research Innovation วิธีนำเสนอผลงาน สมัครสมาชิก คู่มือการใช้


จิรสุดา เรืองเพ็ง


ชื่อนวัตกรรม
รูปแบบ MAHA GENIUS
         innovation | ไฟล์นวัตกรรม 1 | แชร์  เข้าชม 95
ประเภทนวัตกรรม การบริหารจัดการ
ปีที่พัฒนา 2562
ชื่อผู้พัฒนา จิรสุดา เรืองเพ็ง
หน่วยงาน โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา   สังกัด   สพม.สงขลา สตูล
แนวคิด มมโนทัศน์ หรือสาระสำคัญ
1.แนวคิดของพหุปัญญา
นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายและแนวคิดของพหุปัญญาไว้ ดังนี้
การ์ดเนอร์ (Gardner. 2011 : 22) ได้ให้ความหมายของพหุปัญญา หมายถึง สติปัญญาความสามารถที่หลากหลายของบุคคลที่มีความสามารถที่มาจากการถูกควบคุมโดยสมองแต่ละส่วน และการพัฒนาสมองต้องได้รับการเลี้ยงดูจากสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม การส่งเสริมความสามารถ ทางสติปัญญาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีเป้าหมาย คิดอย่างมีเหตุผล และต้องจัดให้เหมาะสมกับความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อให้พัฒนาความสามารถทางสติปัญญาของบุคคลในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พหุปัญญาตามแนวคิดการ์ดเนอร์ ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมีหลายด้านหลายมุม แต่ละด้านมีความอิสระในการพัฒนาตัวเองให้เจริญงอกงาม ในขณะเดียวกันก็มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน เติมเต็มซึ่งกันและกัน แสดงออกเป็นเอกลักษณ์ทางปัญญาของมนุษย์ แต่ละคน คนหนึ่งอาจเก่งเพียงด้านเดียว หรือเก่งหลายด้าน หรืออาจไม่เก่งเลยสักด้าน แต่ที่ชัดเจน คือ แต่ละคนมักมีปัญญาด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่มีปัญญาทุกด้านเท่ากันหมด หรือ ไม่มีเลยสักด้านเดียว นับเป็นทฤษฎีที่ช่วยจุดประกายความหวัง เปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาสติปัญญาของมนุษย์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในกลุ่มปกติ กลุ่มที่มีความบกพร่อง และกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ
แรกเริ่มนั้น การ์ดเนอร์จำแนกความฉลาดของมนุษย์ออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ความฉลาด ทางด้านภาษา (Linguistic Intelligence) ความฉลาดทางด้านตรรกะคณิตศาสตร์ (Logical-mathematic Intelligence) ความฉลาดทางด้านดนตรี (Musical Intelligence) ความฉลาดทางด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence) ความฉลาดทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย (Bodily-kinesthetic Intelligence) ความฉลาดทางด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) และความฉลาดทางด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) ต่อมาการ์ดเนอร์ได้เพิ่มความฉลาดอีก 2 ด้าน คือ ความฉลาดทางด้านธรรมชาติ (Naturalist Intelligence) และความฉลาดทางด้านการดำรงอยู่ของชีวิต (Existential Intelligence)

จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ (2561 : 3) ได้อธิบายถึงทฤษฎีพหุปัญญาหรือความฉลาดในทัศนะของการ์ดเนอร์ ซึ่งเป็นผู้เสนอคำนี้ขึ้นมา หมายถึง ความสามารถของมนุษย์ที่จะค้นหาปัญหาและ หาทางแก้ไขปัญหา รวมไปถึงความสามารถในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองหรือรับใช้สังคม ของตน เขาต้องการแสดงให้เห็นอย่างเจาะจงและกระตุ้นเตือน โดยเฉพาะครูว่าผู้เรียนแต่ละคน มีปัญญาหรือความฉลาดหลายด้าน ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องค้นหา เพื่อสามารถช่วยกระตุ้น หรือจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนให้เหมาะกับความสามารถของผู้เรียน อันประกอบด้วย
1. ความฉลาดทางด้านภาษา (Verbal/Linguistic Intelligence) คือ ความฉลาดที่จะเรียนรู้ด้วยการฟัง พูด และใช้ภาษา และมีทักษะในการฟัง อ่าน เขียน ใช้คำ สามารถพัฒนาทักษะด้านการฟังและการพูดได้ดี ความคิดมักจะออกมาเป็นคำพูดมากกว่าเป็นภาพ เก่งที่จะเล่าเรื่อง อธิบาย สอน พูดขำขัน เข้าใจความหมายในคำพูดได้ดี จดจำข้อมูล พูดชักจูงโน้มน้าวคนอื่น อธิบายวิเคราะห์การใช้คำพูด มีแนวโน้มที่จะทำอาชีพ อาทิ นักประพันธ์ นักการสื่อสาร (เขียนข่าว บทความ) ครู นักกฎหมาย นักการเมือง นักแปล ฯลฯ
2. ความฉลาดทางด้านตรรกะ/คณิตศาสตร์ (Logical/Mathematical Intelligence) คือ ความฉลาดที่จะเรียนรู้ด้วยเหตุผล ตรรกะ และตัวเลข คิดเป็นระบบ หรือเรียงลำดับตามเหตุการณ์ ตามอันดับตัวเลข เก่งที่จะเชื่อมโยงข้อมูลส่วนต่าง ๆ เข้าเป็นภาพใหญ่ มักจะกระตือรือร้นสนใจ สิ่งรอบตัวเสมอ ๆ มักชอบถามคำถามและชอบทดลองเพื่อให้ได้คำตอบ มีทักษะในการแก้ปัญหา จัดลำดับหรือจัดกลุ่มข้อมูล เชื่อมโยงความคิดเชิงนามธรรม และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเด็น ที่เกี่ยวข้องกัน สามารถจัดการกับเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ได้ยาว ๆ และเห็นความก้าวหน้า สามารถทำวิจัยได้ดี มักถามคำถามเรื่องธรรมชาติรอบตัว อีกทั้งยังมีทักษะด้านการคำนวณ และรูปทรงเรขาคณิต มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพบางอย่างได้ดี อาทิ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร โปรแกรมเมอร์ นักวิจัย นักบัญชี นักคณิตศาสตร์ ฯลฯ
3. ความฉลาดทางด้านดนตรี (Musical/Rhythmic Intelligence) คือ ความฉลาดที่จะสร้างและดื่มด่ำกับสุนทรียะทางดนตรี ทำให้คนกลุ่มนี้มักคิดเป็นเสียง จังหวะ และรูปแบบ (คล้ายกับ การเล่นดนตรี แบบที่วงดนตรีเล่นร่วมกันเป็นเพลง) มักตอบสนองต่อเสียงดนตรี ทั้งด้านความชื่นชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ คนกลุ่มนี้จะไวมากกับเสียงที่อยู่รอบตัว เช่น เสียงกระดิ่ง น้ำหยด ทำให้มีทักษะในการร้องเพลง ผิวปาก เล่นเครื่องดนตรี จดจำจังหวะและแบบแผนของเสียง ประพันธ์เพลง จดจำท่วงทำนองเสนาะ และเข้าใจโครงสร้างและจังหวะของดนตรี จึงมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพเหล่านี้ อาทิ นักดนตรี ดีเจ นักร้อง นักแต่งเพลง ฯลฯ

4. ความฉลาดทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย (Bodily/Kinesthetic Intelligence) คือ ความฉลาดที่จะควบคุมร่างกาย การเคลื่อนไหว และจัดการงานต่าง ๆ ได้ดี มักแสดงตัวตน ด้วยการเคลื่อนไหว มีทักษะในการใช้สายตาร่วมกับการใช้มือ เช่น เล่นบอลได้ดี หรือยิงเป้าได้แม่น ด้วยทักษะในการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำให้สามารถจดจำและจัดระบบข้อมูลสิ่งรอบตัวได้ดี ทำให้มีทักษะในการเต้นรำ ควบคุมสมดุลร่างกาย กีฬา การใช้ภาษากาย ศิลปะ การแสดงเลียนแบบ ใช้มือในการสร้างสรรค์หรือสร้างสิ่งต่าง ๆ แสดงอารมณ์ด้วยภาษากาย และมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพบางอย่างได้ดี อาทิ นักเต้นรำ นักกีฬา ครูสอนพลศึกษา นักแสดง นักผจญเพลิง ช่างฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ฯลฯ
5. ความฉลาดทางด้านมิติสัมพันธ์ (Visual/Spatial Intelligence) คือ ความฉลาดที่จะเรียนรู้ด้วยการมองเห็นภาพ/มิติ เก็บข้อมูลจากการมองเห็นจนเกิดความคิดในเชิงมิติ และปรากฏภาพในสมอง และจดจำภาพเหล่านั้นเป็นข้อมูลไว้ใช้ต่อไป กลุ่มนี้มักจะชอบเรียนรู้ด้วยแผนที่ ตาราง แผนภูมิ กราฟ รูปภาพ วิดีทัศน์ และภาพยนตร์ ให้ความสำคัญกับความเข้าใจที่จะนำไปสู่การลงมือกระทำ เป็นทักษะที่ทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ บันทึกไว้ในสมอง เกิดภาพในใจ จนสามารถคิดค้นสิ่งต่าง ๆ หรือแก้ไขปัญหา ทักษะของเด็กที่เก่งด้านนี้ อาทิ ต่อภาพปริศนา การอ่าน เขียน และทำความเข้าใจแผนภูมิ กราฟ และเก่งเรื่องทิศทาง สเก็ตภาพ วาดเขียน รวมไปถึงการออกแบบภาพมิติต่าง ๆ หรือจัดการภาพได้ดี มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพบางอย่างได้ดี อาทิ ผู้นำทาง/ออกแบบการนำทาง ศิลปิน สถาปนิก นักออกแบบภายใน วิศวกร ฯลฯ
6. ความฉลาดทางด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) คือ ความฉลาด ที่จะสร้างความสัมพันธ์และเข้าใจผู้อื่น มักจะมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยมุมมองของคนอื่น ๆ รอบตัว เพื่อให้เข้าใจว่าคนอื่น ๆ คิดอย่างไรและรู้สึกอย่างไร มีทักษะในการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก แรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นของผู้คน เป็นนักจัดการ แม้บางครั้งอาจจะดูว่าเจ้ากี้เจ้าการไปบ้าง แต่ก็เพื่อให้เกิด ความสงบสันติในกลุ่ม และทำให้เกิดความร่วมมือกัน โดยใช้ทั้งภาษาพูดและภาษากาย เช่น การสบตา การเอียง/โน้มตัว ยิ้ม เพื่อสร้างสัมพันธ์ให้สื่อสารกันได้ มีทักษะในการฟังและเข้าใจคนอื่น เห็นอกเห็นใจ และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ในการให้คำปรึกษาหรือประสานงานในกลุ่มจะคอยตรวจสอบอารมณ์ของกลุ่ม แรงบันดาลใจ และความตั้งใจใช้การสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษากาย สร้างความเชื่อมั่น ในกลุ่มได้ดี เป็นนักประสานและแก้ไขความขัดแย้ง ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีระหว่างผู้คน คนกลุ่มนี้มักจะประกอบอาชีพเหล่านี้ได้ดี อาทิ นักจิตวิทยา นักการเมือง นักธุรกิจ นักเจรจาต่อรอง ฯลฯ
7. ความฉลาดทางด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) คือ ความฉลาดที่จะสื่อสารกับตนเอง โดยเฉพาะการมีสติกับภาวะภายในของตน พยายามที่จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกภายใน ความฝัน สัมพันธภาพกับผู้อื่น เข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตน สะท้อนและวิเคราะห์ตนเอง เข้าใจแรงปรารถนาและความใฝ่ฝันของตน วิเคราะห์แบบแผนการคิดของตน ให้เหตุผลกับตน เข้าใจบทบาทหน้าที่และสัมพันธภาพกับคนอื่น มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพเหล่านี้ อาทิ นักวิจัย นักคิด/ปราชญ์ นักปรัชญา ฯลฯ
8. ความฉลาดทางด้านธรรมชาติ (Naturalist Intelligence) คือ ความฉลาดในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติรอบตัว แยกแยะความเป็นจริง/ลักษณะร่วมหรือความแตกต่างของสิ่งรอบตัว จัดกลุ่มสิ่งที่เหมือนหรือต่างกันด้วยแนวคิดที่เป็นเหตุเป็นผล มองเห็นลำดับชั้นของความเชื่อมโยง ในธรรมชาติ จัดแบบแผนความคิดของตนด้วยการจัดกลุ่ม จัดอันดับชั้นของความจำต่อสิ่งรอบตัว จึงมีทักษะในการจัดระบบความคิดภายในตัวเอง แสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและเข้าใจธรรมชาติรอบตัว จดจำ แยกแยะรายละเอียด สนุกกับการแจงนับและจัดระบบสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ชอบที่จะใช้กราฟ แผนภูมิ ตาราง และลำดับเวลา มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพเหล่านี้ได้ดี อาทิ นักธรณีวิทยา นักมานุษยวิทยา นักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร นักปศุสัตว์ นักปรุงอาหาร ฯลฯ
9. ความฉลาดทางด้านการดำรงอยู่ของชีวิต (Existential Intelligence) คือ ความฉลาด ในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้ากับภาพใหญ่ (มหภาค) จนเห็นความงดงามของสรรพสิ่งในโลก เชื่อมโยงการดำรงอยู่ของมนุษย์และตนเองกับสิ่งที่ใหญ่กว่า เช่น จักรวาล พระเจ้า ความดีงาม สามารถรวบรวมสรุปรายละเอียด แล้วทำให้เกิดความเข้าใจถึงสิ่งที่ใหญ่กว่า เห็นคุณค่าของการเกิดเป็นมนุษย์ เห็นความงดงามของศิลปะ คุณธรรมบารมี และมีแนวโน้มที่จะใส่ใจกับการค้นหาความหมายในชีวิต พยายามมองหาความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้สาขาย่อย ๆ เข้าเป็นภาพใหญ่ สนใจและชื่นชม กับวรรณคดี เรื่องเล่าอัตชีวประวัติของคนต่างวัฒนธรรม รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับครอบครัวและเพื่อน ๆ รวมไปถึงชุมชน และขยายไปถึงชุมชนโลก ชอบเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและการเมือง ใส่ใจกับสุขภาวะของตน ที่จริงอาจเชื่อมโยงไปถึง “ปัญญาญาณ” ในศาสนาพุทธ และ การพัฒนาด้านจิตวิญญาณอื่น ๆ
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2564 : 1-5) อธิบายถึงทฤษฎีพหุปัญญาของการ์ดเนอร์ ว่าเชาวน์ปัญญาของมนุษย์มีมากกว่าเชาวน์ปัญญาด้านการคิดวิเคราะห์ การคำนวณ และการใช้เหตุผล หรือที่เรียกว่าไอคิว (Intelligence Quotient: IQ) และมีเชาวน์ปัญญาอย่างน้อย 9 ด้าน จึงเรียกเป็นพหุปัญญา (Multiple Intelligence) การ์ดเนอร์ได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับทฤษฎีพหุปัญญาว่า มนุษย์ทุกคนมีเชาวน์ปัญญาอย่างน้อย 9 ด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ ไม่มีบุคคลใดที่จะมีเชาวน์ปัญญาที่เหมือนกันกับบุคคลอื่น แม้กระทั่งผู้ที่มีพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน เพราะต่างก็มีประสบการณ์และการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน การที่บุคคลใดมีเชาวน์ปัญญาที่แข็งแกร่งก็ไม่ได้ ทำให้บุคคลนั้นมีการแสดงออกตามระดับของเชาวน์ปัญญา เช่น บุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์สูง อาจจะใช้เชาวน์ปัญญาด้านนี้เพื่อการศึกษาค้นคว้าทดลองทางฟิสิกส์หรือคิดสมการทางคณิตศาสตร์ แต่อาจไม่มีความสามารถในการคำนวณโอกาสในการเลือกซื้อลอตเตอรี่ให้ถูกรางวัลก็เป็นได้ เชาวน์ปัญญาทั้ง 9 ด้านของการ์ดเนอร์ ประกอบด้วย
1. ด้านภาษา (Linguistic Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการเรียนรู้ภาษาได้เร็ว และสามารถใช้ภาษาได้ถึงแก่น คุณลักษณะที่โดดเด่นของเชาว์ปัญญาด้านนี้ ได้แก่ เรียนรู้ภาษาได้เร็ว ชอบอ่านตัวหนังสือจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ช่างพูด รู้จังหวะที่จะพูด รู้จักใช้ภาษาและน้ำเสียงจูงใจผู้ฟัง ชอบกิจกรรมที่ใช้ทักษะการพูด ช่างเปรียบเปรย เจ้าสำบัดสำนวน และชอบเล่นเกมคำศัพท์ เป็นต้น
2. ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical Mathematical Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการใช้ตัวเลข สามารถตั้งโจทย์ปัญหาและแก้โจทย์ปัญหาหรือตั้งสมมติฐานและทดสอบสมมติฐานด้วยการคิดเชิงเหตุและผล คุณลักษณะที่โดดเด่นของเชาว์ปัญญาด้านนี้ ได้แก่ คิดจ่ายเงิน ทอนเงิน ได้อย่างคล่องแคล่ว แก้โจทย์คณิตศาสตร์เก่ง คิดเลขเก่ง ชอบคิดเลข มีวิธีคิดที่เป็นระบบ เป็นขั้นตอน ชอบแก้ปัญหาที่ซับซ้อน รู้จักใช้เหตุผล ชอบเล่นเกมกล่องปริศนา และเกมเขาวงกต เป็นต้น
3. ด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการมองเห็นภาพและทิศทางแบบสามมิติ มีความไวในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว สามารถจำแนกลักษณะ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น คุณลักษณะที่โดดเด่นของเชาว์ปัญญาด้านนี้ ได้แก่ เก่งการใช้แผนที่และจับทิศทาง เก่งเรื่องการจัดหมวดหมู่ ตาไว สายตาดี บอกรายละเอียดของสิ่งที่มองเห็น ได้อย่างรวดเร็ว เก่งการใช้แผนผังความคิด ชอบเขียนภาพ วาดภาพ ระบายสี การออกแบบโปสเตอร์ จัดนิทรรศการ ชอบต่อจิ๊กซอร์ เล่นเกมจับคู่ภาพ และจัดสิ่งของให้พอดีกับพื้นที่ เป็นต้น
4. ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างคล่องแคล่ว สามารถใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของร่างกาย ใจและกายประสานกันเป็นหนึ่งเดียว คุณลักษณะที่โดดเด่นของเชาว์ปัญญาด้านนี้ ได้แก่ เรียนรู้งาน ที่ต้องลงมือปฏิบัติได้ดี ใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายปฏิบัติกิจกรรมได้ดี ชอบแสดงท่าทางประกอบการพูด แสดงท่าทางเพื่อสื่อความหมาย เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว ทรงตัวได้ดี ชอบกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การแสดง และการเต้นรำ เป็นต้น
5. ด้านดนตรี (Musical Intelligence) หมายถึง ความไวในการรับรู้และตอบสนองต่อท่วงทำนองของเสียง มีความสามารถในการใช้และสร้างแกนหลักของดนตรี คือ ระดับเสียงสูงต่ำ จังหวะ และความเร็วของเสียง คุณลักษณะที่โดดเด่นของเชาว์ปัญญาด้านนี้ ได้แก่ หูไวต่อท่วงทำนองดนตรี มีความสามารถในการได้ยินเสียงดนตรี จับจังหวะของเสียงและท่วงทำนองได้ดี สร้างหรือเลียนแบบเสียงดนตรีได้เก่ง ชอบเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก ชอบสะสมเรื่องราวทางด้านดนตรี ชอบเครื่องดนตรี เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีได้เร็ว ชอบฟังดนตรี ชอบแสดงท่าทางตามจังหวะดนตรี และชอบดัดแปลงเนื้อเพลง แต่งเพลงเพื่อให้จำเนื้อหาที่เรียน เป็นต้น
6. ด้านการเข้าใจระหว่างบุคคล (Interpersonal Intelligence) หมายถึง ความมีมนุษยสัมพันธ์ ไวในการสังเกตสีหน้าท่าทางของผู้อื่น มีความเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และเจตนาของผู้อื่น คุณลักษณะที่โดดเด่นของเชาว์ปัญญาด้านนี้ ได้แก่ อ่านใจคนเก่ง เข้าถึงความชอบ ความคิด แรงจูงใจของคนอื่นได้ดี ไวต่อการรับรู้ความรู้สึกของคนรอบข้าง จับความรู้สึกของผู้อื่นได้ดี เข้ากับคนง่าย มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดี และชอบทำงานเป็นกลุ่ม เป็นต้น
7. ด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการมองตน รู้จักตน เข้าใจความคิด อารมณ์ และความต้องการของตนเอง และสามารถควบคุมพฤติกรรม ของตนเอง คุณลักษณะที่โดดเด่นของเชาว์ปัญญาด้านนี้ ได้แก่ รู้จักและเข้าใจตนเอง บอกข้อดีข้อเสียของตนเองได้ บอกได้ว่าตนเองมีความคิดและความรู้สึกอย่างไร สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของตนเอง ที่มีต่อคนอื่นได้ พึ่งตนเอง มีความรับผิดชอบในตัวเอง ชอบเขียนบันทึกเรื่องราวของตนเอง และชอบเล่นเกมผจญภัยและสวมบทบาทเป็นตัวละครหลาย ๆ ประเภท เป็นต้น
8. ด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ มีความรอบรู้เรื่องพืชและสัตว์ คุณลักษณะที่โดดเด่นของเชาว์ปัญญาด้านนี้ ได้แก่ มีความรอบรู้เรื่องพืชและสัตว์ ช่างสังเกต จดจำและจำแนกประเภทพืชและสัตว์รอบตัวได้ อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ชอบอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เข้าใจและสนใจปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ชอบเดินทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ชอบกิจกรรมทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนและชุมชน เป็นต้น
9. ด้านการดำรงอยู่ของชีวิต (Existential Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจ สัจธรรมของโลกและชีวิต การดำรงอยู่ของมนุษย์ คุณค่าของมนุษย์ที่มีต่อโลกและจักรวาล คุณลักษณะที่โดดเด่นของเชาว์ปัญญาด้านนี้ ได้แก่ ชอบฝึกสมาธิ มีความเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณ สนใจและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา ชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของมนุษย์ที่มีต่อโลก รัก เมตตา มนุษย์และสัตว์โลก และสนใจเรื่องของโลกและจักรวาล เป็นต้น
จากความหมายและแนวคิดพหุปัญญาดังกล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่า พหุปัญญาเป็นสติปัญญาความสามารถที่หลากหลายของบุคคลที่มีความสามารถที่มาจากการถูกควบคุมโดยสมองแต่ละส่วน และการพัฒนาสมองต้องได้รับการเลี้ยงดูจากสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โดยพหุปัญญาตามแนวคิด ของการ์ดเนอร์ ประกอบด้วย เชาวน์ปัญญาด้านภาษา เชาวน์ปัญญาด้านตรรกะคณิตศาสตร์ เชาวน์ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ เชาวน์ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว เชาวน์ปัญญาด้านดนตรี เชาวน์ปัญญาด้านการเข้าใจระหว่างบุคคล เชาวน์ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง เชาวน์ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา และเชาวน์ปัญญาด้านการดำรงอยู่ของชีวิต

2.แนวคิดเกี่ยวอัจฉริยภาพ/ความสามารถเฉพาะทาง
อัจฉริยภาพมีความหมายในทำนองเดียวกันกับความสามารถพิเศษ ในต่างประเทศใช้คำว่า ผู้มีพรสวรรค์ (Gifted) หรือผู้มีความสามารถพิเศษเฉพาะทาง (Talented) โดยมีนักวิชาการและหน่วยงานต่าง ๆ ได้เสนอความหมายของความสามารถพิเศษและอัจฉริยภาพไว้ ดังต่อไปนี้
เรนซูลลิ (Renzulli. 1978 ; อ้างถึงใน วีรวัฒน์ จันทรัตนะ. 2556 : 25) กล่าวถึง เด็กปัญญาเลิศต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ ที่เรียกว่า หลักทฤษฎีสามห่วง (Renzulli’ s Three Ring Model) คือ ต้องมี (1) ความสามารถเหนือเกณฑ์เฉลี่ย (Above Average Ability) (2) ความมานะมุ่งมั่น (Task Commitment) และ (3) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity)
ยุวดี หิรัญยไพศาลสกุล (2544 : 14-15) ได้ให้ความหมายเด็กที่มีความสามารถพิเศษ หมายถึง เด็กซึ่งผู้เชี่ยวชาญในวงการที่เกี่ยวข้องได้รับรองแล้วว่า เป็นเด็กที่มีความสามารถดีเยี่ยม เป็นที่ประจักษ์ เป็นผู้ที่ต้องการแผนการศึกษาพิเศษซึ่งนอกเหนือไปจากเด็กปกติ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม เด็กเหล่านี้ ได้แก่ เด็กที่มีความสามารถสูง เด็กที่มีแววแสดงออก ในความสามารถด้านต่าง ๆ ด้านใดด้านหนึ่งหรือรวมกันหลายด้าน ได้แก่ ความสามารถด้านเชาวน์ปัญญาโดยทั่วไป ความสามารถทางการเรียนเฉพาะด้านสาขาใดสาขาหนึ่ง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสามารถในการเป็นผู้นำ ความสามารถในทางศิลปะและดนตรี ซึ่งเด็กที่มีความสามารถพิเศษ แต่ละคน จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป และอาจจะไม่ได้มีลักษณะดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด ซึ่งเด็กเหล่านี้อาจจะมีลักษณะทั่วไปเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเด็กปกติ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2544 : 12) ได้ให้ความหมายของอัจฉริยภาพ (Genius) หมายถึง ความสามารถอย่างสูงสุดในการรับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ หรือสิ่งที่ยาก หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสามารถอย่างสูงสุดของคนในการจัดการกับปัญหา อุปสรรค หรือสิ่งที่ยากในสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างยาวนานเท่าที่ความอัจฉริยะยังคงอยู่

สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2546 : 8) ได้ให้ความหมายเด็กที่มีความสามารถพิเศษ คือ เด็กที่แสดงออกซึ่งความสามารถโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน ในด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ การใช้ภาษา การเป็นผู้นำ การสร้างงานทางทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง ความสามารถด้านดนตรี ความสามารถทางกีฬา ความสามารถทางวิชาการในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขา ความสามารถดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะพัฒนาความสามารถ ได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเด็กอื่นที่มีอายุระดับเดียวกัน สภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์ระดับเดียวกัน
ราชบัณฑิตยสถาน (2556 : 1484) ได้ให้ความหมายของอัจฉริยภาพ หมายถึง ความเป็นผู้มีปัญญาความสามารถเกินกว่าระดับปกติมาก
วีรวัฒน์ จันทรัตนะ (2556 : 26) ได้สรุปความหมายของอัจฉริยภาพ หมายถึง สติปัญญาความสามารถในการเข้าใจ เชาวน์ ความเฉลียวฉลาด ไหวพริบ ความรู้จักคิดขั้นสูงของคน ผู้ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถด้านสติปัญญาขั้นสูง ซึ่งบุคคลได้แสดงออกตามธรรมชาติ และ ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ มีคุณลักษณะเฉพาะ ที่เป็นตัวของตัวเอง มีความสามารถพิเศษในหลายสาขาวิชา เช่น ด้านศิลปะ ด้านการประพันธ์ ด้านดนตรี ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านคณิตศาสตร์ เป็นต้น
จากความหมายของอัจฉริยภาพดังกล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่า อัจฉริยภาพ หมายถึง ความเป็นผู้มีปัญญาความสามารถมากกว่าระดับปกติมาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษและมีศักยภาพสูง ปรากฏเป็นแววที่โดดเด่นมากกว่าบุคคลอื่น เมื่อเปรียบเทียบ กับผู้ที่มีอายุระดับเดียวกัน สภาพแวดล้อมเดียวกัน หรือประสบการณ์ระดับเดียวกัน


วัตถุประสงค์เฉพาะ
สำหรับการส่งเสริมศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศตามอัจฉริยภาพของตน

กระบวนการพัฒนานวัตกรรมและขั้นตอนในการใช้นวัตกรรม
การส่งเสริมศักยภาพนักเรียน สู่ความเป็นเลิศตามอัจฉริยภาพของตน โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีองค์ประกอบ 10 ด้าน ดังนี้
M : Multiple Intelligences หมายถึง พหุปัญญาที่ก่อให้เกิดอัจฉริยภาพที่หลากหลายของนักเรียน เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย
A : Ability หมายถึง ความสามารถพิเศษของนักเรียน ค้นพบได้จากการจัดกิจกรรมค้นหาและคัดกรอง ด้วยวิธีการที่เหมาะสม
H : Happy หมายถึง ความสุขของนักเรียน เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ทำในสิ่งที่รัก ซึ่งจะเป็นพลังในการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพได้อย่างไม่หยุดยั้ง
A : Activity หมายถึง กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษอย่างต่อเนื่อง
G : Gifted Learning Center หมายถึง แหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนที่จัดขึ้นอย่างหลากหลาย รวมทั้งการส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้ และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ตลอดเวลา
E : Experience หมายถึง ประสบการณ์ที่เสริมสร้างให้กับนักเรียนด้วยการฝึกซ้อมและ เข้าร่วมแข่งขันทักษะเป็นประจำ ทั้งในระดับภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
N : Network หมายถึง ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ประสานงานกันเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศตามอัจฉริยภาพของตน
I : Innovation หมายถึง นวัตกรรมที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัย เพื่อยกระดับอัจฉริยภาพนักเรียนให้สูงขึ้นในทุกด้าน และปรับปรุงนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่เสมอ
U : Unity หมายถึง ความเป็นเอกภาพ สามัคคี และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการบริหารจัดการการส่งเสริมศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศตามอัจฉริยภาพของตน
S : Success หมายถึง ความสำเร็จจากความมุ่งมั่น เกิดขึ้นได้จากการมีทัศนคติแห่งความสำเร็จ รวมทั้งการฉลองความสำเร็จ และประชาสัมพันธ์ผลงานความสำเร็จ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับครูและนักเรียน

สื่อและแหล่งเรียนรู้
คู่มือการใช้
-รูปแบบ MAHA GENIUS สำหรับการส่งเสริมศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศตามอัจฉริยภาพของตน

การวัดและประเมินผล
1.ด้านผลสัมฤทธิ์
2.ด้านรางวัล
3.ด้านอารมณ์ สังคม
4.ความพึงพอใจ
บทบาทศึกษานิเทศก์/บทบาทครู/บทบาทนักเรียน
คู่มือการใช้รูปแบบ MAHA GENIUS สำหรับการส่งเสริมศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศ ตามอัจฉริยภาพของตนฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ ในการดำเนินงานตามขั้นตอนของรูปแบบ MAHA GENIUS สำหรับการส่งเสริมศักยภาพนักเรียน สู่ความเป็นเลิศตามอัจฉริยภาพของตน โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา
ข้อควรระวัง/ข้อพึงระวัง
ปแบบ MAHA GENIUS สำหรับการส่งเสริมศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศ ตามอัจฉริยภาพของตน ควรนำไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทของนักเรียนโรงเรียนตนเอง


กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 10 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เขตดุสิต กทม. 10300
ติดต่อผู้ดูแลระบบ : reis.obec@gmail.com โทรศัพท์ 0 2288 5883